รัฐบาลมาเลเซียมีเป้าหมายเพื่อมุ่งไปสู่การเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2563 (2020) โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการค้า การลงทุน การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงจากตะวันตก และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มาเลเซียเป็น knowledge-based economy โดยเพิ่มงานในภาคบริการให้เป็นร้อยละ 70 ของGDP (จากเดิมร้อยละ 51) ในภาพรวม มาเลเซียมีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมที่ผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและให้เสรีภาพในการลงทุนในภาคเอกชน รวมทั้งให้การส่งเสริม การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ (Government – link companies) ให้เป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
ประเทศมาเลเซียมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ราย 5 ปี ฉบับที่ 1 เริ่มเมื่อปี 2509 ปัจจุบันใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 (ปี 2549-2553) ซึ่งเน้น 1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันเพื่อลดช่องว่างระหว่างสังคม 2) ส่งเสริมภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs มีส่วนร่วมในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว อาทิ เกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ICT สาธารณสุข และการศึกษา 3) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิต 4) ปรับปรุงการทำงานและการให้บริการของภาครัฐและลดต้นทุนการทำธุรกิจในมาเลเซีย
โดยให้ความสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างภายใน เพื่อรองรับการลงทุนจาก ต่างประเทศ และส่งเสริมผลักดันให้มาเลเซีย เป็นศูนย์การลงทุนด้านการค้าและการบริการ มีการริเริ่มเสนอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทย โดยเฉพาะสาขาภาคการก่อสร้างและภาคบริการ แต่การดำเนินการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งอาจเนื่องมาจากรอความชัดเจนทางการเมืองของประเทศโครงการต่างๆ ได้แก่
1. โครงการสร้างเขตพัฒนารัฐยะโฮร์ตอนใต้ (IDR)
2. โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งภาคเหนือ (NCER)
3. โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งภาคตะวันออก (ECER)
4. โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจรัฐซาบา (SDC)
ข้อมูลเศรษฐกิจมาเลเซียเพิ่มเติม www.thaibizmalaysia.com