ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และมีเป้าหมายจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในมาเลเซีย โดยเร่งให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรในประเทศเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ทำให้เกิดความต้องการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับล่างจนถึงระดับสูง ตลาดแรงงานของมาเลเซียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการก่อสร้าง อุตสาหกรรม และการบริการ
อย่างไรก็ตามปัญหาคือ คนมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่นิยมทำงานในระดับล่างและในภาคบริการ มาเลเซียจึงยังคงต้องพึ่งพาการใช้แรงงานต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ในสาขาอาชีพต่างๆ และจำเป็นต้องผ่อนปรนนโยบายด้านแรงงานโดยอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติใน 6 ภาคประกอบการ และ 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ก่อสร้าง อุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ การเกษตร (ปาล์ม ยางพารา) การเพาะปลูก (พืชไร่) และตำแหน่งผู้ช่วยแม่บ้าน
ปัจจุบันประเทศมาเลเซียมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือระดับสูงหรือทักษะเฉพาะทาง เช่น ทักษะทางด้านภาษา ทักษะทางด้านเทคโนโลยี (เซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งเป็นงานที่มีรายได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ ทักษะการนวดสปาของไทยก็ยังคงเป็นที่ต้องการจำนวนมากเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการจ้างงานที่สำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทยของมาเซียประกาศยกเลิกโควตาการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่นายจ้างไม่ได้ใช้ และการระงับการอนุมัติโควตาการจ้างงานแรงงานต่างชาติรายใหม่ ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการจ้างงานแรงงานไทยในคาบสมุทรมาเลเซีย โดยเฉพาะใน 6 สาขาอาชีพที่ได้รับอนุญาตฯ ส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติรายใหม่ได้ ยกเว้นการจ้างงานแรงงานต่างชาติในรัฐซาราวักและซาบาห์ การจ้างงานแรงงานฝีมือหรือ Expat รวมทั้งการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทักษะที่เข้ามาทำงานในระยะสั้นๆ เช่น นักร้อง นักแสดงงิ้ว ยังคงได้รับอนุญาตให้จ้างงานแรงงานต่างชาติต่อไป
(ข้อมูลอัพเดทเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567)
1951