นโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซียมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563 (Vision 2020) ที่เน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ มาเลเซียยังได้วางนโยบายเศรษฐกิจสืบต่อจาก Vision 2020 คือนโยบายวิสัยทัศน์แห่งชาติ (National Vision Policy: NVP) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างมาเลเซียให้เป็น “ประเทศที่มีความยืดหยุ่นคงทนและมีความสามารถในการแข่งขัน (resilient and competitive nation)” โดยจะลดความสำคัญของการลงทุนที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพลง และให้ความสำคัญต่อประเด็นใหม่คือ การเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม (total factor productivity) โดยจะเน้นการลงทุนที่มีการค้นคว้าและวิจัย (R&D) และเทคโนโลยีสูง ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (knowledge-based economy) กระตุ้นและเพิ่มพลวัตรของภาคการเกษตร การผลิต และการบริการโดยการใช้ความรู้และเทคโนโลยีวิทยาการ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภูมิบุตร ในภาคเศรษฐกิจชั้นนำ และปรับให้มีการพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับสังคมบนฐานความรู้ (knowledge-based society)
นอกจากนี้มาเลเซีย ยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจดังต่อไปนี้
1. เปิดรับการค้า การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2020 (vision 2020) ตามที่ ดร.มหาธีร์ ได้วางเป้าหมายไว้
2. ใช้นโยบายการเมืองนำเศรษฐกิจเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์และโอกาสทางการค้าแก่ประเทศ
3. ขยายการติดต่อด้านเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และยุโรป
ในช่วงที่ผ่านมามาเลเซียมีความสัมพันธ์ด้านการเมืองที่ไม่ราบรื่นนัก กับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศตะวันตกมองว่ารัฐบาลมาเลเซียมักใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายใน (Internal Security Act – ISA) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันมาเลเซียเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในประเทศ และประเทศตะวันตกมักใช้ Double standard ในการดำเนินนโยบายกับประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ด้านการเงินและการคลังที่เกิดขึ้น
ในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ในปัจจุบัน เป็นผลจากการเปิดเสรีด้านการเงินและการคลัง ซึ่งประเทศตะวันตกผลักดันอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ดี ในด้านเศรษฐกิจมาเลเซียมีการติดต่อการค้า การลงทุน การศึกษา ที่ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความผูกพันในสมัยอาณานิคม ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
แม้ ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในปี 2545 ภายใต้ความสำเร็จดังกล่าวยังคงแฝงไว้ซึ่งอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของมาเลเซียโดยรวมได้ อาทิ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้ว่าในเบื้องต้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่หากโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ก็จะส่งผลกระทบอย่างมาก เช่นกันต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ซึ่งปัจจุบันใช้งานไม่ถึงครึ่งของขีดความสามารถ และยังไม่สามารถดึงดูดสายการบินหลัก ๆ ให้บินมาลงที่สนามบิน โครงการก่อสร้างเมืองราชการที่ปุตราจายา ซึ่งยังไม่สามารถดึงคนและภาคธุรกิจเข้าไปร่วมอย่างเต็มที่ โครงการ Cyberjaya ซึ่งไม่สามารถดึงดูดบริษัทชั้นนำของโลกให้เข้ามาลงทุนได้ตามเป้าหมายที่ตั้ง ไว้
สภาพเศรษฐกิจโดยรวม
อัตราการเติบโต GDP เฉลี่ยร้อยละ 6 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547-2551) ในปี 2552 เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ -2.4 แต่รัฐบาลคาดหวังว่าหลังจากการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2551-2552 แล้ว ประเทศมาเลเซียจะกลับมาเติบโตในอัตราเดิมได้ต่อไป โดยสถาบันด้านเศรษฐกิจคาดว่า ปี 2553 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 – 4.2
ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดีบุก น้ำมัน ป่าไม้ ทองแดง และแก๊ซธรรมชาติ
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าอิเลคทรอนิกส์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ด้านการขนส่งและโลหะ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไทย
นโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐบาลมาเลเซียมีเป้าหมายเพื่อมุ่งไปสู่การเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2563 (2020) โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการค้า การลงทุน การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี่ระดับสูงจากตะวันตก และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มาเลเซียเป็น knowledge-based economy โดยเพิ่มงานในภาคบริการให้เป็นร้อยละ 70 ของGDP (จากเดิมร้อยละ 51) ในภาพรวม มาเลเซียมีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมที่ผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและให้เสรีภาพในการลงทุนในภาคเอกชน รวมทั้งให้การส่งเสริม การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ (Government – link companies) ให้เป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
ประเทศมาเลเซียมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ราย 5 ปี ฉบับที่ 1 เริ่มเมื่อปี 2509 ปัจจุบันใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 (ปี 2549-2553) ซึ่งเน้น
1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันเพื่อลดช่องว่างระหว่างสังคม
2) ส่งเสริมภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs มีส่วนร่วมในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว อาทิ เกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ ICT สาธารณสุข และการศึกษา
3) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิต
4) ปรับปรุงการทำงานและการให้บริการของภาครัฐและลดต้นทุนการทำธุรกิจในมาเลเซีย
โดยให้ความสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างภายใน เพื่อรองรับการลงทุนจาก ต่างประเทศ และส่งเสริมผลักดันให้มาเลเซีย เป็นศูนย์การลงทุนด้านการค้าและการบริการ มีการริเริ่มเสนอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างแรงงานไทย โดยเฉพาะสาขาภาคการก่อสร้างและภาคบริการ แต่การดำเนินการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งอาจเนื่องมาจากรอความชัดเจนทางการเมืองของประเทศโครงการต่างๆ ได้แก่
1. โครงการสร้างเขตพัฒนารัฐยะโฮร์ตอนใต้ (IDR)
2. โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งภาคเหนือ (NCER)
3. โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งภาคตะวันออก (ECER)
4. โครงการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจรัฐซาบา (SDC)
17524