Skip to main content

หน้าหลัก

ใช้จ่ายอย่างไรดีเมื่อมาทำงานที่มาเลเซีย

          การไปทำงานในต่างประเทศเป็นที่ต้องการของคนไทยหลายๆ คน เพราะคาดหวังรายได้ที่สูงมากกว่าทำงานในบ้านเรา แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาการใช้จ่ายและเมื่อกลับบ้านก็ยังมีปัญหาทางการเงินอยู่ ท่านทราบหรือไม่ว่าเป็นเพราะอะไร?

           …มีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นก็คือ การไม่ได้จัดการกับรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน…

              สนร. มาเลเซียจึงขอแนะนำเคล็ดลับการจัดการเงินซึ่งเป็นการประมวลจากปัญหาที่แรงงานไทยในมาเลเซียมักพบเจอ เราขอชวนให้ท่านลองแบ่งเงินที่ได้ออกเป็น 3 ก้อนในแต่ละเดือน ดังนี้

 

               ก้อนที่ 1 ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (30%) ขอให้คิดเสมอว่าสุขภาพของท่านก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านต้องดูแลและ ใส่ใจตอนที่ท่านอยู่ต่างประเทศ เพราะถ้าสุขภาพไม่แข็งแรง ท่านก็จะทำงานได้น้อยและได้เงินน้อยลงด้วย ดังนั้น ท่านจึงต้องแบ่งเงินเพื่อเป็นค่าอาหารให้เพียงพอ หลายๆ ท่านอาจประหยัดด้วยการซื้ออาหารสดและมาทำกินร่วมกันกับเพื่อน หรือบางท่านอาจไม่ต้องจ่ายค่าอาหารเพราะนายจ้างดูแลให้ก็ถือเป็นโชคดี นอกจากนี้ ท่านใดที่ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการสังสรรค์ บุหรี่ สุราหรือมีน้อย ท่านก็จะได้เปรียบ ยิ่งท่านลดสิ่งเหล่านี้ได้เท่าไหร่ ท่านยิ่งมีเงินเหลือเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

 

                ก้อนที่ 2 เงินออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน (10-20%) เป็นเงินที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ได้กันเอาไว้ เงินนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายเผื่อต้องเดินทางกลับไปทำธุระที่บ้าน ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีเกินอัตราที่นายจ้างรับผิดชอบ หรืออาจเป็นค่ายกเลิกสัญญากับนายจ้างเผื่อกรณีที่เราจำเป็นต้องยกเลิกสัญญากระทันหัน จะได้ไม่ต้องมีปัญหาข้อพิพาทและจากกันด้วยดี ไม่โดนแบล็คลิสต์ มีบางท่านต้องการจะยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดแต่ไม่ได้เตรียมเงินก้อนนี้ไว้ทำให้ต้องทนทำงานต่อทั้งๆ ที่ตัวเองต้องการจะกลับ อย่างไรก็ตาม หากท่านทำงานครบตามสัญญาหรือไม่มีเหตุต้องใช้    เงินก้อนนี้จะกลายเป็นเงินออมที่มีค่าอย่างที่ท่านคาดไม่ถึง ซึ่งท่านอาจนำไปเป็นทุนตั้งต้นทำธุรกิจเล็กๆ อาจเป็นโบนัสให้ครอบครัว หรือเป็นเงินประเดิมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยอีกครั้งหลังไปทำงานต่างประเทศเสียนาน

 

              ก้อนที่ 3 เงินส่งกลับบ้าน (50-60%) แน่นอน วัตถุประสงค์หลักของการมาทำงานในต่างประเทศคือการเก็บเงินให้ได้มากที่สุดและส่งกลับบ้าน แต่ละคนอาจส่งมากส่งน้อยตามความจำเป็น แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีหลายท่านส่งเงินที่ได้จากการทำงานกลับบ้านแทบจะทั้งหมด ถ้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นแน่นอนของครอบครัว เช่น ผ่อนบ้าน หรือเป็นค่าเล่าเรียนลูก ก็โอเค แต่มีหลายท่านไม่รู้ว่าเงินที่ท่านลำบากตรากตรำที่ส่งกลับไปให้ที่บ้านนั้นถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เพื่อสิ่งจำเป็น? หรือเพื่อสิ่งฟุ่มเฟือย? ที่ต้องย้ำคือ อย่าส่งเงินกลับบ้านจนตัวเองต้องอดต้องลำบากหรือเดือดร้อนจนเกินไป ดังนั้น ขอให้ท่านได้แบ่งเงินสำหรับก้อนที่ 1 และ 2 ให้เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนที่เหลือจึงค่อยส่งกลับบ้าน 

 

               สำหรับเงินที่ส่งกลับบ้านนี้ ท่านอาจแบ่งเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีสำหรับครอบครัว และบัญชีเพื่อวัยเกษียณของท่านเอง ซึ่งบัญชีหลังนี้ท่านควรจะกันเงินไว้ 10-20% ของเงินที่โอนมา เพราะระยะเวลาทำงานในต่างประเทศที่ได้เงินเดือนสูงนี้มีอยู่จำกัด แทบทุกประเทศจะกำหนดอายุขั้นสูงของแรงงานต่างชาติ เช่น มาเลเซียกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 45 ปี ดังนั้น ช่วงเวลานาทีทองแห่งรายได้นี้ท่านต้องวางแผนการเงินให้รอบคอบ อย่าคิดทุ่มทุกอย่างจนลืมช่วงเวลาเกษียณของตน เพราะวันนึงครอบครัวก็ต้องแยกย้ายหรือจากเราไป แต่เรายังต้องอยู่กับตัวเองตลอดชีวิต ดังนั้น จึงต้องมีหลักประกันว่าช่วงท้ายของชีวิตเราจะสามารถอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน

 

เราลองมาดูตัวอย่างกัน สมมุติท่านเงินเดือน 2,000 ริงกิต จะสามารถแบ่งเงินในแต่ละเดือน ดังนี้

                 สำหรับเงินก้อนที่ 2 ลองคำนวณดูตามระยะเวลาสัญญา สมมุติเป็น 2 ปี จะเท่ากับ 200 ริงกิต x 12 เดือน x 2 ปี = 4,800 ริงกิต ลองคิดดูว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ถ้าท่านเก็บเดือนละ 400 ริงกิต?

ย้ำอีกครั้ง! นี่เป็นเพียงข้อแนะนำที่อยากให้ทุกท่านมาทำงานและกลับบ้านอย่างมีความสุข สัดส่วนอาจปรับและแตกต่างตามความจำเป็นของแต่ละคน ขอให้ท่านลองประยุกต์ใช้หลักแบ่งเงินเป็น 3 ก้อน  ให้เหมาะสมกับท่าน ใครทำสำเร็จก็มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ ได้ครับ/ค่ะ

…ด้วยความปรารถนาดี…

 

 

 

 

…………………………………………………………..

สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย

โทร. +603-2145-5868 /+603-2145-6004

อีเมล์ thai_labour_office@yahoo.com

 
 

 


6527
TOP