ต้นแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ของมาเลเซีย
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 Dato’ Sri Mohd Najib bin Tun Abdul Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงาน Invest Malaysia 2010 เกี่ยวกับต้นแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model – NEM) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Transformation Program – ETP)
สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียได้ทำการศึกษาและติดตามนโยบายดังกล่าวทราบว่า NEM และนโยบาย ETP เป็นหนึ่งในสี่ของนโยบายหลักเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปของรัฐบาล โดยสำหรับ NEM นั้นประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์การปฏิรูป (Strategic Reform Initiatives – SRIs) เพื่อให้เศรษฐกิจมาเลเซียบรรลุเป้าหมายตาม NEM และหนึ่งในยุทธศาสตร์จะมีส่วนที่เกี่ยวกับด้านแรงงานคือ “การเพิ่มคุณภาพของแรงงานมาเลเซียและลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ (Development a quality workforce and reducing dependency on foreign labour)” โดยมีแนวการดำเนินงานดังนี้
1. เพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน (Increase local talent over time) เช่น ปรับปรุงระบบการศึกษาให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการท่องจำ ให้ความสำคัญกับระบบอาชีวศึกษา ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เป็นต้น
2. อบรมทักษะให้แรงงาน (Re-skill the existing labour force) เช่น เพิ่มทักษะให้กับแรงงานระดับล่างโดยให้การศึกษาและอบรม จัดตั้งระบบ Safety net ให้กับแรงงานที่ถูกออกจากงาน ร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับปรุงมาตรฐานฝีมือให้เป็นสากล
3. รักษาแรงงานมาเลเซีย ที่มีความสามารถพิเศษและสรรหาแรงงานที่มีความสามารถพิเศษจากต่างชาติ (Retain and access global talent) เช่น ปรับปรุงนโยบายเพื่อดึงดูดคนมาเลเซียที่มีทักษะสูงและทำงานอยู่ต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศมาเลเซีย
4. มอบสถานะPermanent Residence ให้กับคนงานต่างชาติที่มีทักษะสูง เปิดเสรีด้านการจ้างแรงงานวิชาชีพ (professional services) ผ่าน mutual recognition arrangements (MRA)
5. กำจัดการบิดเบือนกลไกตลาดแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นเงินเดือน (Remove labour market distortions constraining wage growth) เช่น ให้คนงานทำงานตรงตำแหน่ง ส่งเสริมให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น ปรับปรุงระบบกฎหมาย พิจารณาค่าจ้างจากความสามารถในการผลิต
6. ลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ (Reduce reliance on foreign labour) เช่น บังคับใช้มาตรฐานการจ้างงาน (labour standards) ในการจ้างแรงงานท้องถิ่นหรือแรงงานต่างชาติแบบเดียวกัน ใช้ระบบค่า levy ในการกำหนดเป้าหมายจำนวนแรงงานต่างชาติที่ไม่มีฝีมือตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา NEM ในส่วนที่เกี่ยวกับด้านแรงงานแล้ว สนร.มาเลเซีย เห็นว่ามาเลเซียอาจจะมีนโยบายไม่พึ่งพาและลดการจ้างแรงงานต่างชาติในระดับล่าง โดยอาจจะกำหนดยุทธศาสตร์ หรือมาตรการต่างๆ ให้แรงงานชาวมาเลเซียหวนกลับมาทำงานในระดับล่างอีก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าจ้างหรือกำหนดมาตรฐานการจ้างให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แรงงานระดับล่างที่ทำงานในมาเลเซียส่วนใหญ่จะเป็นคนงานต่างชาติ เนื่องจากแรงงานมาเลเซียไม่นิยมทำงานประเภทดังกล่าว รวมทั้งสามารถเลือกงานประเทศอื่นที่มีค่าจ้างค่าตอบแทนสูงกว่า สำหรับนโยบายการจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงนั้นเห็นว่า มาเลเซียยังคงให้การส่งเสริมการจ้างแรงงานจากต่างชาติ ดังจะเห็นตามมาตรการในการรองรับนโยบายการเปิดเสรีด้านการจ้างแรงงานวิชาชีพผ่าน MRA ซึ่งจะมีการใช้ใน ASEAN Economic Community ซึ่งอาจจะมีการใช้ในปี พ.ศ. 2558
**********************