Skip to main content

หน้าหลัก

นโยบายการดำเนินธุรกิจสปาในมาเลเซีย

          จากการประชุมผู้ประกอบธุรกิจสปาในประเทศมาเลเซีย ซึ่งจัดโดยสมาคมสปามาเลเซีย (AMSPA) เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสปาได้พบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจสปา เพื่อรับทราบนโยบายของรัฐบาลต่อการทำธุรกิจสปา และแนวโน้มของการขยายอุตสาหกรรมสปาในประเทศมาเลเซีย

 

          กระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตการเปิดร้านนวดสปา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภายใต้กระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งว่ามาเลเซียจะมีระบบการจัดระดับของร้านนวดสปาในลักษณะเดียวกับการจัดระดับโรงแรม ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ได้เสนอในการประชุม National Council for Local Government  เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๓ โดยมี ตัน ซรี มุฮ์ยิดดีน ยัสซิน (Tan Sri Muhyiddin Yassin) รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม

 

          การจัดระดับร้านนวดสปาดังกล่าว กำหนดให้มี ๕ ระดับ ได้แก่ ระดับ ๑ ดาว ถึง ๕ ดาว ส่วนการจัดระดับร้านนวดเท้า (Reflexology) กำหนดให้จัดระดับเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับเงิน (Silver) ระดับทอง (Gold) และระดับทองคำขาว (Platinum)  เจ้าของร้านนวดสปาหรือร้านนวดเท้าสามารถติดต่อฝ่ายการลงทะเบียนและการออกใบอนุญาต กระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซีย เพื่อขอรับการจัดระดับได้ ซึ่งจะมีคณะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และกระทรวงการเคหะและการปกครองส่วนท้องถิ่น ไปตรวจสอบร้านเพื่อการจัดระดับ

 

          เกณฑ์ในการจัดระดับ ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ความถูกต้องตามกฎหมาย (๒) สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมืออุปกรณ์ (๓) สินค้า การบำบัดด้วยสปา และโปรแกรมเพื่อสุขภาพ (๔) ขั้นตอนการดำเนินการที่ได้มาตรฐาน (๕) พนักงาน และ (๖) คุณภาพและความสวยงาม

 

          จนถึงปัจจุบันมีร้านนวดสปาที่ยื่นหนังสือขอให้มีการจัดระดับกับกระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซียแล้ว จำนวน ๑๕๖ ร้าน มีร้านนวดสปาที่ได้รับระดับ ๕ ดาว จำนวน ๒๔ ร้าน ระดับ ๔ ดาว จำนวน ๒๘ ร้าน ระดับ ๓ ดาว จำนวน ๒๐ ร้าน ระดับ ๒ ดาว จำนวน ๙ ร้าน ระดับ ๑ ดาว จำนวน ๕ ร้าน ไม่ผ่านเกณฑ์ ๓๐ ร้าน และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ๔๐ ร้าน

 

          สำหรับการจ้างแรงงานต่างชาติในธุรกิจสปา รัฐบาลกำหนดมีเงื่อนไขการออกใบอนุญาตทำงาน ดังนี้ (๑) จะต้องเป็นร้านนวดสปาที่ได้รับการจัดระดับจากกระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซีย ในระดับ ๓ ดาวขึ้นไป (๒) จำนวนแรงงานต่างชาติที่จะได้ใบอนุญาต จะพิจารณาตามจำนวนความต้องการที่แท้จริง ในอัตราส่วน ๑ เตียง ต่อพนักงานนวด ๓ คน และต้องมีอัตราส่วนการจ้างแรงงานท้องถิ่นต่อการจ้างแรงงานต่างชาติ ๑:๓ และ (๓) อัตราค่าจ้างของพนักงานนวดอย่างน้อย ๑,๕๐๐ ริงกิต (สำหรับประเทศไทยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ ๑,๗๐๐ ริงกิต)

 

          สำหรับสถานการณ์พนักงานนวดไทยในมาเลเซียในปัจจุบัน พบว่ายังมีพนักงานนวดไทยทยอยเข้ามาทำงานในรัฐต่างๆ โดยเฉพาะกรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐสลังงอร์ และยะโฮร์อย่างต่อเนื่อง มีทั้งเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีรายได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับการทำงานในประเทศไทย ประกอบกับในขณะนี้ รัฐบาลมาเลเซียประกาศแผนการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย จึงมีพนักงานนวดไทยจำนวนมากให้ความสนใจและเข้าร่วมแผนการ เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานอย่างถูกต้อง

 

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นผู้พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตทำงานในเบื้องต้น จึงคาดว่าพนักงานนวดผิดกฎหมายที่ทำงานอยู่กับบริษัทนวดสปาที่ผ่านเกณฑ์การจัดระดับเท่านั้น จึงจะมีโอกาสได้รับการอนุมัติใบอนุญาตทำงาน

 

          การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดระดับร้านนวดสปาดังกล่าว  จะส่งผลให้มีจำนวนร้านนวด สปาที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นการช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ให้ได้รับความนิยมอีกครั้ง และจะมีการตื่นตัวเพื่อยกระดับร้านนวดสปาให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน อุตสาหกรรมสปาจะได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งชาวท้องถิ่นและต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างพนักงานนวดสปาเพิ่มขึ้น ที่สำคัญจะเป็นโอกาสให้พนักงานนวดของไทยได้เข้าไปทำงานในสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน เป็นการยกระดับคุณภาพ และภาพลักษณ์การนวดไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย 

 

          สนร. มาเลเซียจึงขอประชาสัมพันธ์แนวนโยบายการดำเนินการธุรกิจสปาในมาเลเซียแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานนวดไทยที่ประสงค์จะไปทำงานในมาเลเซียได้ทราบ เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์และแนวโน้มการจ้างงานภาคธุรกิจนวดสปาในมาเลเซียต่อไป


1157
TOP