*ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างชาติของมาเลเซีย ครั้งที่ 10*
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 67 ดาโต๊ะ เซอรี ไซฟุดดีน นาซูเตียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นาย สตีเว่น ซิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ร่วมเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างชาติ (Joint Committee on the Management of Foreign Workers) ครั้งที่ 10 ซึ่งในที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติได้รับการจัดการที่ดีขึ้น สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
(1) รัฐบาลจะทบทวนบันทึกความเข้าใจ (Memoranda of Understanding: MoU) กับ 15 ประเทศต้นทาง (ไทย กัมพูชา เนปาล เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คาซักสถาน อินเดีย และอินโดนีเซีย) เกี่ยวกับการจ้างงานและการจัดส่งแรงงานต่างชาติ โดยรัฐบาลจะเริ่มประสานงานกับประเทศที่เกี่ยวข้องภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
ดาโต๊ะ เซอรี ไซฟุดดีนฯ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจควรเป็นข้อตกลงที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ ที่ประชุมฯ จึงเห็นพ้องต้องกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนและกลั่นกรองบันทึกความเข้าใจกับประเทศต้นทางทั้ง 15 ประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย สัญญาจ้าง สุขภาพ ฯลฯ
(2) มาเลเซียมีจำนวนแรงงานต่างชาติประมาณ 2 ล้านคน ทั้งนี้ ร้อยละ 77 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดเป็นแรงงานจากบังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเนปาล ปัจจุบัน ภาคประกอบการที่ยังขาดแคลนแรงงานมีเพียงภาคเพาะปลูกกับภาคการเกษตรเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงอนุญาตให้นายจ้างโอนโควตาให้กับนายจ้างในภาคประกอบการอื่นที่ยังขาดแคลนแรงงานหรืออนุญาตให้มีการเปลี่ยนนายจ้างได้
หมายเหตุ: กรณีเปลี่ยนนายจ้าง จะต้องยื่นขอหนังสือสนับสนุนจากกรมแรงงาน กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ จากนั้นไปดำเนินการต่อที่ฝ่ายบริหารแรงงานต่างชาติ กระทรวงมหาดไทย
(3) รัฐบาลจะลดระยะเวลาของขั้นตอนการจ้างงานแรงงานต่างชาติให้สั้นลง โดยจะเหลือเพียง 15 เดือน กับอีก 23 วัน (จากเดิม 29 เดือน 13 วัน) โดยจะตัดระยะเวลาในบางขั้นตอน เช่น ขั้นตอนการจ่ายค่า Levy ให้จ่ายภายใน 15 วัน จากเดิมจ่ายภายใน 30 วัน และขั้นตอนการอนุมัติสติกเกอร์ใบอนุญาตทำงานภายใน 15 วัน จากเดิม 30 วัน
(4) ดาโต๊ะ เซอรี ไซฟุดดีนฯ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่มีการหารือเกี่ยวกับการยกเลิกนโยบายชะลอการอนุมัติโควตาการจ้างงานแรงงานต่างชาติใหม่ ดังนั้นจึงยังคงนโยบายชะลอการอนุมัติโควตาฯ ตามที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 66
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่