ขณะนี้ มาเลเซียได้ดำเนินโครงการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย (Rehiring and Relocation Illegal Immigrant Programme) ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 – 31 ธันวาคม 2559 โดยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ทำงานในมาเลเซียที่อยู่เกินเวลาที่ได้รับอนุญาต (Overstay) ได้เสียค่าปรับ และจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน และได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง สำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ไม่เข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรมฯ รัฐบาลจะเร่งรัดจับกุมอย่างเข้มงวด จำคุกและส่งกลับประเทศ
สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียจึงขอสรุปสาระสำคัญของโครงการนิรโทษกรรมฯ ดังนี้
คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ประเภท A(i) แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass Temporary Employment แต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว แต่ยังคงทำงานต่อกับนายจ้างเดิม (ที่มีชื่อระบุในใบอนุญาตทำงาน) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบถูกต้อง มี Work Permit แต่เมื่อ Work Permit หมดอายุแล้วไม่กลับประเทศ ยังทำงานกับนายจ้างรายเดิม)
2. ประเภท A(ii) แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass Temporary Employment แต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว และยังคงทำงานต่อ แต่ไม่ได้ทำงานกับนายจ้างรายเดิม โดยทำงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบถูกต้องมี Work Permit แต่เมื่อ Work Permit หมดอายุแล้วไม่กลับประเทศ และเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่)
3. ประเภท B แรงงานต่างชาติที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยว (Social Visit Pass) ทำงาน และ วีซ่าท่องเที่ยวหมดอายุก่อนวันที่ 1 กันยายน 2558 โดยได้ทำงานกับนายจ้างปัจจุบันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบไม่มี Work Permit และอยู่เกินระยะเวลาที่อนุญาตให้เข้ามาท่องเที่ยว)
นอกจากนี้ มาเลเซียจะไม่อนุญาตให้บุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมโครงการฯ (1) ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกต้องและไม่มีเอกสารเดินทางที่ถูกต้อง (2) เคยมี Work Permit แต่หลบหนีนายจ้างรายเดิม (3) เคยมี Work Permit แต่หนังสือเดินทางหมดอายุ (4) ได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทอื่น เช่น วีซ่านักศึกษา และ Employment Pass
ทั้งนี้ นายจ้างและลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเสียค่าปรับและผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกับการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีอยู่เดิม เช่น ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมจ้างงานแรงงานต่างชาติ (Levy) ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือไม่เคยลงทะเบียนโครงการนิรโทษกรรม (6P) เป็นต้น
การเข้าร่วมโครงการและค่าใช้จ่าย
ในการเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรมฯ นายจ้างต้องติดต่อบริษัทตัวแทนซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลเท่านั้น สำหรับแรงงานไทย ได้แก่ บริษัท Konsortium PMF เพียงบริษัทเดียว หากมีบริษัทอื่นแจ้งว่าสามารถดำเนินการได้แสดงว่ากำลังหลอกลวงท่าน
สำหรับค่าใช้จ่ายต่อหัวซึ่งรวมทั้งค่าปรับและค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 – 5,000 ริงกิตขึ้นอยู่กับประเภทของภาคประกอบการ อย่างไรก็ตาม หากมาเลเซียปรับเพิ่มค่า Levy ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
…ด้วยความปรารถนาดี…
สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย
โทร. +603-2145-5868 /+603-2145-6004
อีเมล์ thai_labour_office@yahoo.com
ถาม – ตอบ
1. ผู้ที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวมาทำงาน และไปจ๊อบหนังสือเดินทางทุกเดือนจะสามารถเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรมฯ ได้หรือไม่
ตอบ ไม่สามารถ เนื่องจาก ผู้ที่จะสามารถสมัครประเภท B นั้น ต้องเป็นผู้ที่อยู่เกินระยะเวลาที่อนุญาตของวีซ่าท่องเที่ยว หากมีการจ๊อบหนังสือเดินทางทุกเดือน จะไม่ถือเป็นผู้ที่อยู่เกินระยะเวลาจึงไม่สามารถสมัครเป็นประเภท B ได้
2. ถ้ามาทำงานโดยได้รับใบอนุญาตทำงานถูกต้อง แต่ภายหลังได้หลบหนีจากนายจ้างไปจะสมัครได้หรือไม่
ตอบ ไม่สามารถ เนื่องจากเป็นคุณสมบัติต้องห้าม
3. หากมีคุณสมบัติสามารถสมัครประเภทใดประเภทหนึ่งได้ แต่อายุ 48 ปีจะเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ เนื่องจาก แรงงานต่างชาติที่สามารถทำงานในประเทศมาเลเซียได้ต้องมีอายุระหว่าง 21-45 ปีเท่านั้น
4. หากใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเลเซีย โดยมาทำงาน 6 เดือนแล้ว และไม่เคยกลับไปจ๊อบหนังสือเดินทางเลย จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่
ตอบ มีสิทธิ ตามประเภท B เพราะถือว่าเป็นผู้ที่อยู่เกินเวลาที่อนุญาตให้อยู่ แต่วีซ่าท่องเที่ยวต้องหมดอายุก่อนวันที่ 1 กันยายน 2558 (หากหมดอายุหลังจากวันที่ 1 กันยายน 2558 จะไม่มีสิทธิ) และต้องทำงานกับนายจ้างไม่น้อยกว่า 6 เดือน
5. หากเคยใช้วีซ่าท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเลเซียแต่มาทำงาน และภายหลังถูกจับและ ถูกส่งกลับไทยมาก่อนจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ เพราะแรงงานกลุ่มดังกล่าวจะถูกแบล็คลิสต์ประวัติไว้ทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ
6. ถ้าปัจจุบันเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่ไม่เข้าร่วมโครงการจะมีผลอย่างไรบ้าง
ตอบ รัฐบาลได้ประกาศกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายในประเทศเป็นวาระสำคัญของประเทศ โดยให้โอกาสเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรมฯ หากใครไม่เข้าร่วมโครงการจะถูกจับกุม เสียค่าปรับ จำคุกและถูกส่งกลับประเทศอย่างเข้มงวด
7. ถ้าปัจจุบันเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่อยากเข้าร่วมโครงการต้องทำอย่างไรบ้าง
ตอบ แจ้งนายจ้างเพื่อติดต่อบริษัทตัวแทนหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอทราบขั้นตอนในการเข้าร่วมโครงการโดยละเอียด
*******************************