Skip to main content

หน้าหลัก

มาเลเซียประกาศแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ นำร่อง ๑๙ โครงการ

                 ดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๑๑มกราคม ๒๕๕๔ ว่ารัฐบาลมาเลเซียได้อนุมัติโครงการนำร่องจำนวน ๑๙ โครงการ ตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาเลเซีย (Economic Transformation Program: ETP) เพื่อการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาและมีรายได้สูง ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง ๖๗ พันล้านเหรียญริงกิต (1 ริงกิตประมาณ 10 บาท) และคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานจากโครงการดังกล่าวจำนวนกว่า ๓๕,๐๐๐ อัตรา
               โครงการนำร่องจำนวน ๑๙ โครงการ เป็นโครงการของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ๑๐ ภาค (National Key Economic Areas: NKEAs) ประกอบด้วย (๑) น้ำมัน ก๊าซ และพลังงาน (๒) ธุรกิจบริการ (๓) การเกษตร (๔) สุขอนามัย (๕) การท่องเที่ยว (๖) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (๗) การศึกษา (๘) การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน (๙) การค้าส่งและขายปลีก และ (๑๐) โครงการเกรเตอร์เคแอล /กลังแวลลีย์ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
               ๑. โครงการด้านน้ำมัน ก๊าซ และพลังงาน ถือเป็นโครงการหลักที่รัฐบาลมาเลเซียทุ่มเทเป็นพิเศษ เพราะมีมูลค่าการลงทุนถึง ๒๐.๑ พันล้านริงกิต โครงการในภาคเศรษฐกิจน้ำมัน ก๊าซ และพลังงานงาน จะเน้นทางด้านการจัดหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น การยกระดับและการขยาย รวมทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินการด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะสร้างงานในภาคก่อสร้างได้ถึง ๖,๖๕๐ อัตรา (โครงการจะเริ่มต้นในปี ๒๐๑๓ และจะแล้วเสร็จภายในปี ๒๐๒๐) สำหรับบริษัทที่เป็นคู่สัญญาของโครงการนี้ คือ Exxon Mobile ร่วมกับ Petronas Carigali Sdn. Bhd. ซึ่งเป็นส่วนของการสำรวจแหล่งน้ำมัน สำหรับการก่อสร้างนั้น ผู้รับผิดชอบ คือ Shell Malaysia ซึ่งจะต้องมีการจ้างงานถึง ๑,๖๕๐ อัตรา และ Dialog Group Bhd. จะดำเนินการเกี่ยวกับโครงการกักเก็บน้ำมันสำรอง
               ๒. โครงการด้านธุรกิจบริการ มีมูลค่าการลงทุนจำนวน ๖๗๑.๖ ล้านเหรียญริงกิต มีบริษัทที่เป็นคู่สัญญา ๓ บริษัท คือ MyTelehaus, CSF Group และ Teliti International โดยเป็นโครงการด้านการพัฒนาและยกระดับศูนย์ข้อมูล
                ๓. ด้านการเกษตร จะมีโครงการเพาะปลูกพืชสมุนไพร และการสกัดยาจากพืชสมุนไพร ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน คาดว่าจะมีการจ้างงานในภาคการเกษตรจำนวน ๒๘๕ ตำแหน่ง
               ๔. ด้านสุขอนามัย จะมีโครงการขยายโรงพยาบาล สถาบันวิจัย และศูนย์การศึกษาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยมาลายา (Universiti Malaya Health Metropolis) โดยโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี ๒๐๒๐ คาดว่าจะมีการจ้างพนักงานจำนวน ๑๐,๔๐๐ อัตรา
               ๕. ด้านการท่องเที่ยว จะมีโครงการพัฒนาพื้นที่จำนวน ๓๐๐ เอเคอร์ ของ Teluk Datai ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเกาะลังกาวี รวมทั้งการยกระดับ Datai Hotel และสนามกอล์ฟด้วย ส่วนในรัฐซาบาฮ์ ก็จะมีการสร้าง Pulau Gaya Resort ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ เป็นหมู่บ้านสปา และเป็นวิลลาติดทะเล คาดว่าจะมีการจ้างงานหลายอัตรา บริษัทที่เป็นคู่สัญญาของโครงการนี้ คือ Teluk Datai Resorts Sdn. Bhd. และ YTL Corporation Berhad.                   
               ๖. ด้านการไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีโครงการก่อสร้างแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในรัฐ มะละกา เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ปีละ ๑,๔๐๐ เมกะวัตต์ (โครงการจะแล้วเสร็จภายในปี ๒๐๑๒) คาดว่าจะมีการจ้างงานจำนวน ๔,๐๖๙ อัตรา
               ๗. ด้านการศึกษา จะมีโครงการยกระดับแรงงานไร้ฝีมือ โดยการจัดโรดโชว์ และการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะรับผิดชอบโครงการโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาเลเซีย
               ๘. ด้านการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน จะมีโครงการกระจายรายการโทรทัศน์ในมาเลเซียไปสู่คลื่นรับโทรทัศน์ของโรงแรม ทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยจะครอบคลุมประเทศในตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย และประเทศไทย
               ๙. โครงการเกรเตอร์เคแอล /กลังแวลลีย์  จะมีการพัฒนาพื้นที่ในเขตดามันซารา โดยจะมีการสร้างอาคารสำนักงาน โรงแรมขนาด ๓๐๐ ห้อง และอพาร์ทเมนท์ บริษัทที่เป็นคู่สัญญาของโครงการนี้ คือ Guocoland Malaysia Berhad.

               สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียมีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าในแต่ละโครงการ ทั้งที่เป็นด้านบริการและการก่อสร้าง มาเลเซียจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ ซึ่งจะรวมถึงแรงงานจากประเทศไทยด้วย ซึ่งสนร. มาเลเซียจะได้ติดตามความคืบหน้าการกำหนดแผนการดำเนินการบริหารบุคคลของแต่ละโครงการอย่างใกล้ชิดต่อไป 


913
TOP