รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย Datuk Sri Liow Tiong Lai แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป คนงานต่างชาติทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย (ยกเว้นคนงานตำแหน่งแม่บ้าน) จะต้องทำประกันสุขภาพ ตามระเบียบข้อบังคับใหม่ที่รัฐบาลกำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการค้างชำระค่ารักษาพยาบาลของแรงงานต่างชาติที่รัฐบาลต้องแบกรับ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 18 ล้านริงกิตในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีจำนวนสูงขึ้นอีก เมื่อเทียบกับจำนวนคนงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกปี
Datuk Sri Liow Tiong Lai แจ้งว่า ปัจจุบันมีคนงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซียมากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานในภาคการก่อสร้าง การเพาะปลูก อุตสาหกรรม และบริการ แต่มีคนงานที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้แผนเงินทดแทนแก่คนงาน (Workmen’s Compensation Schemes) ไม่ถึงร้อยละ 50 จากจำนวนคนงานทั้งหมด แต่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับใหม่ คนงานต่างชาติทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพ โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัย จำนวน 120 ริงกิตต่อปี (ประมาณ 1,200 บาท) ทั้งนี้ ในการขอต่อใบอนุญาตทำงานให้คนงานต่างชาติหรือการขอจ้างแรงงานต่างชาติใหม่ นายจ้างจะต้องแนบสำเนากรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วย อย่างไรก็ตาม ตามข่าวยังไม่มีการระบุว่านายจ้างหรือคนงานที่จะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าประกันดังกล่าว
ส่วนทางด้านสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย โดย Mr. Shamsuddin Bardan กรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ แจ้งว่าสหพันธ์ฯ ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มีความเห็นว่าควรให้คนงานเป็นผู้รับผิดชอบค่าประกัน แต่ได้เสนอว่าเบี้ยประกัน 120 ริงกิตต่อคน ถือเป็นอัตราค่อนข้างสูง และอาจเสนอให้เบี้ยประกันเริ่มต้นที่จำนวน 50 ริงกิตแทน
สนร. มาเลเซีย มีข้อสังเกตว่า การที่ทางมาเลเซียจะออกระเบียบหรือมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของคนงานต่างชาติ รวมทั้งแรงงานจากประเทศไทยเพื่อการทำงานที่ถูกต้อง จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับคนงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานจากประเทศไทยเข้ามาทำงานโดยไม่ขออนุญาตมากขึ้น เช่น ในกลุ่มร้านอาหารต้มยำ เป็นต้น