รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซีย (Datuk Maznah Mazlan) ได้แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2553 ว่ารัฐบาลมาเลเซียกำลังพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติการจ้างงานเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ โดยจะมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยการคุกคามทางเพศ ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกที่นำประเด็นการคุกคามทางเพศเข้าไปรวมในหมวดกฏหมายแรงงาน ซึ่งจากก่อนหน้านี้ ประเด็นการคุกคามทางเพศจะเป็นเพียงข้อแนะนำสำหรับสถานประกอบการเท่านั้น ในการร้องเรียนกรณีถูกคุกคามทางเพศ สามารถกระทำได้ทั้งที่เป็นกรณีการถูกคุกคามทางเพศจากคนงานด้วยกัน กรณีลูกจ้างถูกนายจ้างล่วงละเมิดทางเพศ กรณีนายจ้างถูกบุคคลในกลุ่มนายจ้างด้วยกันละเมิดทางเพศ รวมทั้งกรณีนายจ้างถูกลูกจ้างล่วงละเมิดทางเพศ โดยในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ให้ฝ่ายนายจ้างมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางปฏิบัติเมื่อมีการร้องเรียนการถูกคุกคามทางเพศ
กรณีที่มีการร้องเรียน หากนายจ้างปฏิเสธ นายจ้างจะต้องมีหนังสือแจ้งเหตุผลที่ปฏิเสธให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในเวลา 30 วัน หากผู้ร้องเรียนไม่พอใจในการชี้แจงของนายจ้าง ผู้ร้องเรียนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ได้ ซึ่งกระทรวงฯ อาจตัดสินให้มีการติดตามดำเนินการร้องเรียนดังกล่าว หรืออาจเห็นคล้อยตามนายจ้างหรือไม่ก็ได้ แต่หากนายจ้างไม่สามารถชี้แจงกรณีร้องเรียนถูกคุกคามทางเพศได้ จะต้องได้รับโทษปรับถึง 10,000 ริงกิต (ประมาณหนึ่งแสนบาท) แต่หากการร้องเรียนของลูกจ้างไม่มีมูลความจริง ลูกจ้างก็จะต้องถูกดำเนินการตามวินัยทันที หรืออาจมีโทษที่เบากว่า เช่น การให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เป็นต้น
สนร. มาเลเซีย เห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายคุ้มครองแรงงานของมาเลเซีย และเป็นเรื่องที่ควรรู้สำหรับคนงานไทยที่จะเดินทางมาทำงานในประเทศมาเลเซียด้วย เห็นควรประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รับทราบ และหากมีการบังคับใช้กฎหมายบทบัญญัติเมื่อใด จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป