เมื่อวันที่ 1-2 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา นายกำธร สิทธิโชติ อัครราชทูต และนายสิงหเดช ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เดินทางไปยังเมืองกุชิง รัฐซาราวัก พบกับอธิบดีกรมแรงงานรัฐซาราวัก ผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวัก และนายจ้างบริษัท Global Upline Sdn. Bhd เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งรัดการดำเนินการ กรณีคนงานไทยที่ทำงานกับบริษัทฯ ขอเดินทางกลับประเทศไทยเป็นไปอย่างล่าช้า โดยบริษัทฯ อ้างเหตุความล่าช้าเนื่องจากหน่วยงานท้องถิ่นยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ (The Letter of Approval in Principal to Employ Non-Resident Employee: AP) และการอนุญาตทำงาน
ในวันที่ 1 กันยายน 2553 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้ประชุมหารือกับ Mr. Kadir Bin Sapian, Deputy Assistant Director สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าคนงานไทยที่ยังไม่ได้เดินทางกลับจำนวน 42 คน บริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (Levy) ให้กับคนงานเหล่านี้แต่อย่างได ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวักได้มีหนังสือแจ้งแก่บริษัทแล้ว
จากนั้น ได้เดินทางไปพบหารือกับอธิบดีกรมแรงงานรัฐซาราวัก Hj. Mohd Zubir Bin Mohd Basri และคณะเจ้าหน้าที่ โดยฝ่ายไทยได้แจ้งสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และได้แสดงหนังสือกล่าวอ้างของบริษัทฯ ว่าสาเหตุของการล่าช้านั้น เกิดจากกรมแรงงานรัฐซาราวักยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ (AP) ซึ่งในเรื่องนี้ HJ. Mohd Zubir และเจ้าหน้าที่ได้ยืนยันว่าในกรณีที่คนงานต่างชาติขอเดินทางกลับประเทศ ทางบริษัทนายจ้างไม่จำเป็นจะต้องขอต่ออายุ AP เพียงแต่บริษัทดำเนินการชำระค่า Levy ให้กับคนงานก็สามารถส่งตัวกลับได้ และได้ตำหนิการดำเนินการของบริษัทฯ ในเรื่องของความล่าช้าและเรื่องการกล่าวอ้างเอกสารดังกล่าว
วันที่ 2 กันยายน 2553 ฝ่ายไทยได้ขอให้มีการประชุมทุกฝ่าย ประกอบด้วย อธิบดีกรมแรงงานรัฐซาราวัก รองผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวัก และรองผู้อำนวยการบริหารบริษัท Global Upline Sdn. Bhd. (Datuk Michael Ting Sie Ping) ผลสรุปของการหารือ คือ ฝ่ายนายจ้างต้องชำระค่า Levy ของคนงานให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และให้ส่งคนงานไทยจำนวน 42 คนกลับประเทศภายในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งนายจ้างรับในที่ประชุมว่าจะดำเนินการในทันที
บริษัท Global Upline Sdn. Bhd. ได้สรุปยอดคนงานไทยทั้งหมด 142 คน เดินทางกลับไปแล้ว 23 คน อยู่ระหว่างรอเดินทางกลับ 42 คน และจะเหลือคนงานไทยที่ยังทำงานอยู่กับบริษัทฯ 77 คน ฝ่ายไทยจึงแจ้งในที่ประชุมว่า หากคนงานรายใดที่มีความประสงค์จะขอเดินทางกลับเพิ่มเติมอีก ก็ขอให้ทางบริษัทฯ ดำเนินการให้ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้รับปากในเรื่องนี้
จากนั้น อัครราชทูต และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้ไปพบกลุ่มคนงานที่จะได้เดินทางกลับประทศไทยทั้ง 42 คน โดยได้ชี้แจงขั้นตอนและผลการหารือ ซึ่งคนงานทั้งหมดพอใจและขอบคุณในการดำเนินการช่วยเหลือดังกล่าว
ในจำนวนนี้มีคนงานชื่อ นายชีพ ครุธนี (จ. สุโขทัย) ซึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถหัวหน้าคนงานชนได้รับบาดเจ็บและอยู่ระหว่างรักษาตัว จะได้เดินทางกลับด้วย ซึ่งสอท. จะมีหนังสือแจ้งหน่วยงานในประเทศไทยให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลต่อไป
จากปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากคนงานไทยเหล่านี้เดินทางเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการชักชวนของนายหน้าจัดหางานเถื่อน ไม่มีสัญญาจ้างงาน ใช้วิธีเดินทางเข้ามาเลเซียแบบนักท่องเที่ยวและนายจ้างทำใบอนุญาตทำงานให้ภายหลัง ซึ่งหากนายจ้างละเลยไม่ทำใบอนุญาตทำงานให้ดังเช่นกรณีนี้ คนงานอาจถูกจับกุมดำเนินคดี และในการเดินทางกลับประเทศไทย ก็ต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานและใช้เวลามากกว่าปกติด้วย