Skip to main content

หน้าหลัก

สนร. มาเลเซียเข้าพบอธิบดีกรมประมงมาเลเซีย หารือเกี่ยวกับการจ้างงานและการคุ้มครองลูกเรือประมงไทย

          เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย (สนร. มซ.) โดย นายธนิทธิ์ ลอยพิมาย ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และนางสาวซูไฮดา แวดาหะ ผู้ช่วยดำเนินการ ด้านการส่งเสริมการจ้างงานในต่างประเทศ ร่วมกับฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดย นายอรรถพงศ์ พันธุ์รัตน์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายกงสุล) และนายอับดุลฮาลิม มะฮะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุลฯ ได้เดินทางเข้าพบ ดาโต๊ะ ฮัจญี อิสมาอิล บิน อบูฮัสซัน (Datuk Haji Ismail Bin Abu Hassan) อธิบดีกรมประมงมาเลเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการจ้างงาน และการคุ้มครองแรงงานลูกเรือไทยในประเทศมาเลเซีย สืบเนื่องจากที่ สนร. มซ. ได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากแรงงานลูกเรือไทยจำนวนหลายราย ซึ่งมีทั้งการร้องทุกข์โดยคนงานโดยตรง ร้องทุกข์ผ่านญาติในประเทศไทย รวมทั้ง การร้องทุกข์ผ่านกระทรวงแรงงาน

           ผลจากการประชุมหารือ กรมประมงมาเลเซียแจ้งว่าไม่สนับสนุนให้ลูกเรือต่างชาติมาทำงานในมาเลเซีย แต่ในกรณีที่พบว่าเจ้าของเรือขาดแคลนแรงงาน ทางการจะอนุญาตให้มีการจ้างงานลูกเรือต่างชาติได้ โดยลูกเรือประมงต่างชาติได้รับอนุญาตให้ทำการประมงเฉพาะในโซน C- C3 (ระยะ 30 ไมล์ทะเล) เป็นต้นไปเท่านั้น นอกจากนี้ การอนุญาตดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้ทำงานและอาศัยเฉพาะในเรือและที่ท่าเรือที่อนุญาตเท่านั้น ไม่รวมส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ หากฝ่าฝืน จะตกเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายหรือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

          ในส่วนของการคุ้มครองแรงงานลูกเรือประมงต่างชาติ ข้อตกลงในการจ้างงาน เช่น ค่าจ้างและสวัสดิการในการทำงาน จะกำหนดโดยเจ้าของเรือ หากลูกเรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามข้อตกลง จะไม่สามารถเรียกร้องผ่านกรมประมงมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดบทลงโทษว่าด้วยการบังคับใช้แรงงานในพระราชบัญญัติการประมง (Fisheries Act 1985) ทั้งนี้ หน้าที่หลักของกรมประมงมาเลเซีย คือการควบคุมดูแล ในเรื่องของการปฏิบัติตามใบอนุญาตของเจ้าของเรือ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกเรือประมงท้องถิ่น กรมประมงมาเลเซียจะแนะนำให้ทำประกันชีวิต รวมทั้งรัฐบาลมีเบี้ยเลี้ยงจ่ายให้ลูกเรือประมงท้องถิ่น (เฉพาะ Traditional Vessel) จำนวน 300 ริงกิตต่อเดือน

          ในกรณีที่ลูกเรือไทยโดดหนีออกจากเรือไปขึ้นบกเนื่องจากไม่สามารถรับสภาพการจ้างงาน หากทางการมาเลเซียพบตัว จะเป็นหน้าที่ของตำรวจมาเลเซียในการดำเนินการจับกุม สอบสวน และหากพบว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรมประมงมาเลเซียตระหนักถึงความจำเป็นของการคุ้มครองแรงงานลูกเรือประมงต่างชาติ ดังนั้น กรมประมงมาเลเซียจึงมีแนวคิดที่จะปรับแก้ระบบการออกใบอนุญาตให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนให้ใช้หนังสือเดินทาง และจะกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่า Levy เหมือนที่ได้เรียกเก็บการแรงงานต่างชาติในภาคประกอบการอื่นๆ ซึ่งหากแรงงานลูกเรือประมงมีหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยกรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียเหมือนภาคประกอบการอื่น ก็จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ ทางการมาเลเซียจะได้นำเสนอทางการไทย เพื่อสร้างความร่วมมือดังกล่าวต่อไปในอนาคต

 

 

***********************

 


525
TOP