สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย (สนร.มซ.) ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากแรงงานหญิงไทย ตำแหน่งพนักงานนวด จำนวน 5 คน โดยขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ออกเอกสารสำคัญแทนหนังสือเดินทาง เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย
จากการสัมภาษณ์พนักงานนวดไทยทั้ง 5 คน ทราบว่าพนักงานนวดทั้งหมด เดินทางมาทำงานกับนายจ้างบริษัท J Two Traditional Massage Sdn. Bhd. ผ่านนายหน้าจัดหางานเถื่อน ชื่อ นางพร (ไม่ทราบชื่อ-นามสกุลจริง) มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ. สว่างแดนดิน จ. สกลนคร มีการจ่ายค่าหัวให้นายหน้ารายละ 15,000 – ๒๒,๐๐๐ บาท โดยได้รับสัญญาจากนายหน้าว่าทุกคนจะได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง เสียค่าใบอนุญาตทำงานปีละ 5 หมื่นบาท และแจ้งว่าทุกคนจะถูกจัดให้ทำงานในร้านนวดสาขาใหม่ของบริษัท ประกันรายได้เดือนละ 2,000 ริงกิต โดยจะมีรายได้จริงๆ อยู่ระหว่าง 4,000 – 5,000 ริงกิต มีทิปต่างหาก
เมื่อมาถึงสถานประกอบการ นายจ้างได้เก็บหนังสือเดินทางของคนงานไทย และแจ้งให้ทราบว่าใบอนุญาตทำงานจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ คนงานต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานเป็นเงิน 150,000 บาทต่อการทำงาน 2 ปี ไม่ใช่ปีละ 5 หมื่นบาทตามที่นายหน้าแจ้ง นอกจากนี้ คนงานยังพบว่าลูกค้าที่เข้ามารับบริการนวดแผนไทยไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่คิด โอกาสที่จะได้ค่าจ้างมากกว่าเดือนละ 2,000 ริงกิต แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงตัดสินใจขอกลับประเทศไทย เมื่อนายจ้างทราบว่าคนงานจะลาออก ก็หักเงินจากค่าจ้างของคนงาน รายละ 600 ริงกิต อ้างว่าเป็นค่าเสียหายที่คนงานไม่สามารถทำงานครบตามที่สัญญา คนงานขอหนังสือเดินทางจากนายจ้าง แต่นายจ้างไม่คืนให้ อ้างว่ากำลังดำเนินการทำใบอนุญาตทำงาน คนงานจึงเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูตฯ
สนร. มซ. ได้โทรฯ ติดต่อนายจ้าง ชื่อ นาย Peter Tan สอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานไทย นายจ้างสารภาพว่าบริษัทฯ ให้เอเย่นต์ดำเนินการทำใบอนุญาตทำงานให้คนงานไทย แต่เอเย่นต์ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และยอมรับว่าหนังสือเดินทางของคนงานไทยหมดกำหนดวีซ่า 30 วันแล้ว สนร. มซ. ขอให้นายจ้างนำหนังสือเดินทางของคนงานไทยมาคืน รวมทั้งให้รับผิดชอบค่าปรับกรณีอยู่เกินกำหนดของคนงานไทย ซึ่งนายจ้างรับปากว่าจะนำหนังสือเดินทางของคนงานไทยมาคืนที่สถานทูตฯ แต่ปรากฏว่านายจ้างไม่มาตามสัญญา โดยภรรยาของนายจ้าง ซึ่งเป็นหญิงไทย ชื่อ นางภัทรวดี ประทับแก้วกุลเดช แจ้งว่าตนและสามีจะไม่เดินทางไปสถานทูตฯ เนื่องจากไม่ว่างและเวลาของตนมีค่าเกินกว่าที่จะเอาไปแลกกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และยืนยันว่าจะไม่รับผิดชอบกรณีเรื่องร้องทุกข์ของพนักงานนวดไทย
สนร. มซ. ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อร้องทุกข์ของคนงานไทยกลุ่มดังกล่าว จัดอยู่ในข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงได้มีการหารือเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจประจำสถานทูตฯ และได้มีการดำเนินการนำแรงงานไทยไปแจ้งความเพื่อเอาผิดนายจ้าง รวมทั้งได้ประสานด่านตรวจแรงงาน อ. สะเดา จ. สงขลา ร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำเนินการช่วยเหลือ นำแรงงานไปแจ้งความเพื่อเอาผิดนายจ้างและนายหน้าสายเถื่อนต่อไป
อนึ่ง สนร. มซ. พบว่านายจ้างรายนี้มีประวัตินำคนงานเข้ามาทำงานโดยผ่านวิธีการดังกล่าวแล้วหลายครั้ง เมื่อประสบปัญหา นายจ้างไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมเอาเปรียบคนงาน ใช้วาจาข่มขู่ และหักค่าใช้จ่ายคนงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย
เกี่ยวกับตำแหน่งงานว่างในประเทศมาเลเซีย สนร. มซ. ขอเรียนให้ทราบว่า กรณีที่บริษัทมีความต้องการจ้างแรงงานไทย บริษัทจะต้องติดต่อสนร.มซ. เพื่อรับรองสัญญาจ้างของแรงงานไทย ก่อนเดินทางมาทำงาน โดยบริษัทจะต้องนำหลักฐานมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ได้รับอนุญาตจากทางการมาเลเซียให้จ้างแรงงานต่างชาติได้ ดังนั้น หากคนหางานคนใดได้รับการติดต่อจากนายจ้างเพื่อจ้างงาน ควรแนะนำให้นายจ้างติดต่อสนร. มซ. เพื่อรับรองสัญญาจ้าง จากนั้น ให้คนงานแจ้งการเดินทางที่กรมการจัดหางาน สมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากคนหางานจะมั่นใจว่ามีตำแหน่งงานที่แน่นอนแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย ไม่ถูกหลอกลวง ไม่ต้องเสียค่าหัวอีกด้วย
หากมีข้อสงสัยโปรดติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรงที่ สนร. มซ. หมายเลขโทรศัพท์ 03-2145 5868/ 03-2145 600403-2145 6004 หรือ E-mail: thai_labour_office@yahoo.com หรือ Facebook: สำนักงานแรงงานในมาเลเซีย