ปัจจุบันนี้ อินเตอร์เน็ทถือเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของการสมัครงาน ผู้หางานหันมาใช้อินเตอร์เน็ทเป็นเครื่องมือในการค้นหาและสมัครงานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และหลากหลายกว่าการหางานจากช่องทางอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความละเอียดรอบคอบ ก็อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการฉ้อโกงทางอินเตอร์เน็ทได้
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 สนร. มาเลเซียได้รับแจ้งจากคนหางานไทยรายหนึ่ง แจ้งว่าได้รับการเสนองานในตำแหน่ง Site Engineer โดยบริษัทนายจ้าง ชื่อ Cergas Oilfield & Engineering Sdn. Bhd. ซึ่งในเอกสารเสนองาน ระบุที่ตั้งอยู่ที่ No. 2435, First Floor, Persiaran Boulevard, Boulevard Centre, Miri, Sarawak ประเทศมาเลเซีย จึงขอให้สนร. มาเลเซียช่วยตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่
จากการสอบถามคนหางานและการตรวจสอบเอกสารเสนองานในเบื้องต้น พบว่า คนหางานไทยได้สมัครงานด้วยการฝากประวัติไว้ที่เว็บไซต์ www.naukrigulf.com จากนั้นก็ได้รับอีเมล์เสนองานในตำแหน่ง Site Engineer ด้วยอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ 11,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากมาย แต่ก่อนที่จะดำเนินการทำใบอนุญาตทำงาน คนหางานจะต้องทำบันทึกคำให้การ (Affidavit) อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและรับรองเอกสารกับศาลยุติธรรมมาเลเซีย ต้องเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 910 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยให้โอนเงินผ่านเวสเทิร์น ยูเนียน (Western Union) ให้ผู้รับชื่อ Noresah Binti Ali ซึ่งคนหางานแจ้งว่าได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว หลังจากโอนเงินได้ไม่นาน คนหางานก็ได้รับแจ้งจากผู้ที่อ้างว่าเป็นทนายความของบริษัทฯ ขอให้โอนเงินอีก จำนวน 1,870 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับเป็นค่ารับรองเอกสารกับกระทรวงกิจการภายในมาเลเซีย (Ministry of Internal Affairs) ค่าลงทะเบียนกับกระทรวงโยธาธิการ (Ministry of Works) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หากคนหางานไม่โอนเงินจำนวนนี้ บริษัทฯ ก็จะไม่สามารถรับรองเอกสารบันทึกคำให้การ และไม่สามารถทำใบอนุญาตทำงานได้ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ เรียกร้องมีจำนวนสูง คนหางานจึงติดต่อสนร. มาเลเซีย ให้ช่วยตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัท Cergas Oilfield & Engineering Sdn. Bhd. พบว่า บริษัทฯ ไม่เคยเสนอตำแหน่งงานให้คนหางานไทยดังกล่าว สันนิษฐานว่าจะเป็นการหลอกลวงจากแกงค์ต้มตุ๋น
สนร. มาเลเซียจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนคนหางานไทยให้ระมัดระวังในการตอบรับการเสนองานทางอินเตอร์เน็ท โดยเฉพาะการเสนอตำแหน่งงานในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันมีขบวนการฉ้อโกงทางอินเตอร์เน็ท หาช่องทางเจาะข้อมูลบุคคลของคนหางานทาง Social Network แล้วติดต่อไปยังผู้ที่คาดว่าจะเป็นเหยื่อ โดยยื่นเงื่อนไขอัตราค่าจ้างที่สูงมาก เพื่อจูงใจให้ผู้ที่ได้รับการติดต่อหลงเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมเอกสารการจ้างงานที่เสมือนจริงมาก ซึ่งถ้าหากผู้หางานไม่มีความรู้เรื่องระเบียบและนโยบายการจ้างงานของประเทศนั้นๆ ก็อาจถูกหลอกลวงได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น คนหางานสามารถสังเกตความน่าเชื่อถือของผู้นำเสนอตำแหน่งงานจากหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ และ e-mail address กล่าวคือ เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อควรเป็นเบอร์สำนักงาน ไม่ใช่เบอร์ส่วนตัว ในส่วนของ e-mail address ของสถานประกอบการใหญ่ๆ ในมาเลเซีย มักจะลงท้ายด้วย .com.my ไม่ใช่ -my.com และควรเข้าไปตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีช่องทาง ให้สอบถามกับฝ่ายบุคคลของบริษัทได้โดยตรง และจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้สมัครงานอย่างเด็ดขาด ซึ่งในทางปฏิบัติ หากเป็นตำแหน่งระดับสูงหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน บริษัทที่มีความต้องการบุคลากร มักจ้างบริษัทจัดหางานประเภท Head Hunter ที่มีชื่อเสียง หาผู้ทีมีคุณสมบัติเหมาะสมให้ โดยบริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้บริษัทจัดหางานเอง ดังนั้น ผู้หางานทางอินเตอร์เน็ทควรติดต่อสถานทูตไทย หรือสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศให้ช่วยตรวจสอบก่อนทุกครั้ง และไม่ควรจ่ายเงินล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น
หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลได้ที่ สนร. มาเลเซีย หมายเลข 03-21455868/21456004