Skip to main content

หน้าหลัก

สนร. มาเลเซียเตือน! ระวังใบอนุญาตทำงานปลอม

 
             จากการที่สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย (สนร. มาเลเซีย) ได้เคยรายงานการพบใบอนุญาตทำงานปลอมหลายราย  และมีคนงานไทยที่ถือใบอนุญาตทำงานปลอมได้ถูกจับกุมดำเนินคดี ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง Bukit Kayu Hitam ของมาเลเซีย (ตรงข้ามด่านสะเดา) แล้ว นั้น 

             สนร. มาเลเซีย ได้ประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียเพิ่มเติม  มีข้อสังเกตว่าการปลอมแปลงใบอนุญาตทำงานนั้น จะกระทำโดยกลุ่มบุคคลเป็นขบวนการ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียให้ความร่วมมือกระทำทุจริต เช่น กรณีคนงานไทยที่ตรวจพบใบอนุญาตทำงานปลอมเข้ามาในประเทศมาเลเซียโดยผ่านด่าน Bukit Kayu Hitam ของมาเลเซีย ซึ่งติดต่อกับด่านสะเดา จังหวัดสงขลา (ทางบก) แต่มีการบันทึกข้อมูลเพื่อไปประกอบทำใบอนุญาตทำงาน ระบุว่าเดินทางเข้ามาผ่านสนามบิน KLIA (ทางเครื่องบิน) ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขณะนี้ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ตั้งหน่วยตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นพิเศษ เพื่อจะหาผู้กระทำผิดต่อไป

             กรณีใบอนุญาตทำงานปลอมนั้น สันนิษฐานว่าคนงานไทยไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งนายจ้างผู้ประกอบการบางราย ก็อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ไปว่าจ้างบริษัทตัวแทนดำเนินการด้านเอกสาร โดยเสียค่าบริการและธรรมเนียมตามกฏหมาย ซึ่งหากมีการตรวจพบว่าใบอนุญาตทำงานดังกล่าวปลอม นายจ้างก็จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย การปลอมแปลงใบอนุญาตส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในธุรกิจนวดแผนไทยและสปา เนื่องจากทางการมาเลเซียค่อนข้างเข้มงวด ไม่อนุญาตโควต้าให้ใหม่ และผู้ประกอบการหลายรายมักจะนำคนงานไทยเข้ามาทำงานก่อน แล้วมาขอใบอนุญาตทำงานในภายหลัง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง 
             สนร. มาเลเซีย ขอให้ข้อสังเกตในการตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน ว่าคนงานจะต้องแน่ใจว่าได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
             (1) ได้รับ Calling Visa จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย
             (2) ได้ดำเนินการขอวีซ่าชั่วคราว 3 เดือน (Single Entry Visa) กับสถานกงสุลหรือสถานทูตมาเลเซียในประเทศไทย
             (3) ผ่านการตรวจโรคกับคลีนิคที่อยู่ในสังกัดของ FOMEMA (หน่วยงานตรวจสุขภาพคนงานต่างชาติในมาเลเซีย)

             นอกจากนี้ มีข้อสังเกตให้ตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่า
             (1)  ใบอนุญาตทำงาน Visit Pass (Temporary Employment) ซึ่งเป็นแถบสติ๊กเกอร์ปิดอยู่ในหน้าหนังสือเดินทางของคนงานไทย  ต้องระบุค่าธรรมเนียมวีซ่าของคนไทยเป็นคำว่า GRATIS (ยกเว้นค่าธรรมเนียม) แต่ใบอนุญาตทำงานปลอมมักจะระบุค่าธรรมเนียมวีซ่าเป็นจำนวนเงิน
             (2)  จากตัวอักษร OCR ซึ่งเป็นอักษร 2 บันทัดที่อยู่ในตอนท้ายของหน้าหนังสือเดินทาง (E-Passport) หน้าที่มีรูปถ่าย จะต้องมีการเว้นช่องว่างระหว่างบรรทัดใกล้เคียงกับมาตรฐานของ ICAO (องค์การบินระหว่างประเทศ) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของทุกประเทศสามารถตรวจสอบได้  แต่มีข้อสังเกตว่าช่องว่างระหว่างบรรทัดในสติ๊กเกอร์ใบอนุญาตทำงานปลอม จะมีช่วงแคบกว่าของจริงมาก ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยการรูดแถบแม่เหล็ก ก็จะไม่สามารถอ่านข้อมูลได้ เนื่องจากช่องว่างระหว่างบรรทัดไม่ได้มาตรฐาน (ให้เปรียบเทียบช่องว่างระหว่างบันทัดในหน้าหนังสือเดินทาง กับใบอนุญาตทำงาน)

            สนร. มาเลเซีย ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้ประสงค์จะเข้าไปทำงานในมาเลเซียให้ใช้ความระมัดระวัง  และหากกรณีคนงานที่ทำงานในมาเลเซียอยู่แล้วมีข้อสงสัยเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงาน ก็สามารถนำไปให้สนร. มาเลเซีย ตรวจสอบได้

 


1876
TOP