สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียได้รับแจ้งจากนางอำไพ จิตอารีย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานของไทยที่เมืองกุชิง รัฐซาราวัก ว่าได้ให้การช่วยเหลือนายพชรพล มุ่งหมาย ภูมิลำเนาจังหวัดสกลนคร แจ้งว่าตนกับเพื่อนคนงานไทยรวม 6 คนได้ถูกชักชวนจากนายหน้าในประเทศไทย (จำชื่อไม่ได้) หลอกให้มาทำงานก่อสร้างกับนายจ้างมาเลเซียที่เมืองกุชิง รัฐซาราวัก โดยจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท โดยเดินทางจาก จ. สกลนคร มาที่ อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา แล้วเดินทางต่อเข้ามาประเทศมาเลเซีย ไปขึ้นเครื่องบินจากเกาะปีนัง ไปยังเมืองกุชิง รัฐซาราวัก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 หลังจากนั้นก็มีนายหน้าชาวมาเลเซียพาไปทำงานโดยแยกคนงานไทยไปทำงานคนละแห่ง สำหรับนายพชรพลฯ แจ้งว่าถูกพาไปทำงานในเขตป่านอกเมือง และจะได้ค่าจ้างเพียงวันละ 23 ริงกิต (ประมาณ 230 บาท) เท่านั้น โดยจะต้องหุงหาอาหารเอง นายพชรพลฯ เห็นว่าค่าจ้างที่จะได้รับต่ำมากกว่าที่นายหน้าไทยเคยแจ้ง ประกอบกับสภาพงานที่หนัก จึงหลบหนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองกุชิง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจฯ ได้แจ้งเรื่องให้อาสาสมัครฯ ได้ทราบเพื่อให้ความช่วยเหลือ
เนื่องจากนายพชรพลฯ ถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางไว้ จึงได้แจ้งเรื่องให้ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ออกหนังสือรับรองสำคัญประจำตัว (CI) เพื่อให้นายพชรพลฯ ได้เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 สำหรับข้อมูลอื่นนั้น นายพชรพลฯ ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าเป็นใครชักชวนมาทำงาน นายจ้างเป็นผู้ใด รวมทั้งสถานที่ทำงาน เนื่องจากหลบหนีออกมาในตอนกลางคืน รวมทั้งเพื่อนคนงานอื่นก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งสนร. มาเลเซีย ได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครในพื้นที่ติดตามข่าว หากว่าคนงานไทยอีก 5 คนที่เหลืออยู่จะขอความช่วยเหลือ
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้างต้น นอกจากจะเป็นกรณีหลอกลวงเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียแล้ว ยังเป็นกรณีผิดขั้นตอนในการเดินทางอีกด้วย เนื่องจากไม่ได้รับ Calling Visa ล่วงหน้า คนงานเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยได้รับการยกเว้นวีซ่า 1 เดือน ซึ่งหากภายใน 1 เดือนยังไม่ได้รับการอนุญาตทำงานก็เท่ากับว่ามีความผิดกรณีเข้าเมืองผิดกฏหมายและใช้วีซ่าผิดประเภท นอกจากนี้รัฐซาราวักจะเดินทางเข้าออกได้โดยทางเครื่องบินเท่านั้น และจำเป็นที่จะต้องใช้หนังสือเดินทางด้วย สำหรับกรณีนายพชรพลฯ โชคดีที่มีสำเนาหนังสือเดินทางระบุวันเข้าประเทศมาเลเซีย ซึ่งยังไม่ครบกำหนด 1 เดือน จึงสามารถออกนอกประเทศได้โดยที่ยังไม่มีความผิด
กรณีดังกล่าวสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียได้เคยมีการประชาสัมพันธ์เตือนคนไทยไว้แล้วว่า การเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน ทำให้เข้ามาทำงานได้โดยง่าย แต่หากเกิดกรณีไม่มีเอกสารการจ้างหรืออยู่เกินกำหนด ก็จะมีความผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่า เข้าง่ายแต่ออกยาก จึงขอแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์กรณีดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อเป็นการเตือนสำหรับคนงานให้ระมัดระวังสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการให้ชัดเจน ก่อนตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซียต่อไป