ระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน 2565 สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย นำโดยนางเรืองรัตน์ อดิการิ ตำแหน่ง อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และเจ้าหน้าที่เดินทางไปราชการ ณ รัฐเคดาห์ รัฐปีนัง และรัฐเปรัก เพื่อดำเนินการ 1) ประชุมเจรจากับบริษัทนายจ้างมาเลเซียที่จ้างแรงงานไทยเพื่อคุ้มครองสภาพการจ้างงาน 2) พบปะเยี่ยมเยียนแรงงานไทยในตำแหน่งลูกเรือประมง 3) ประชุมหารือร่วมกับกรมแรงงานสาขา Pejabat Tenaga Kerja Sg Petani และ 4) ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานไทยเพื่อยื่นร้องทุกข์ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างบริษัท TLT Nursery Sdn Bhd
1) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 สำนักงานฯ ดำเนินภารกิจ ณ รัฐเคดาห์ ดังนี้
1.1 สำนักงานฯ ได้ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานไทย จำนวน 2 ราย เพื่อติดต่อยื่นเรื่องร้องทุกข์ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายกับเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานสาขา Pejabat Tenaga Kerja Sg Petani ณ SP Plaza เมือง Sg Petani รัฐเคดาห์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อนายจ้างเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และแจ้งให้นายจ้างดำเนินการตรวจสอบค่าจ้างค้างจ่ายให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ในโอกาสเดียวกัน สำนักงานฯ ได้พบหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานดังกล่าวเพื่อแนะนำภารกิจของสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย และหารือเกี่ยวกับปัญหาข้อร้องทุกข์ของแรงงานไทยทั้งสองราย ซึ่งผู้อำนวยการฯ ยินดีที่จะติดตามกรณีร้องทุกข์ดังกล่าวและแจ้งผลให้สำนักงานฯ ทราบต่อไป
1.2 สำนักงานฯ ได้เยี่ยมเยียนและหารือกับอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศประจำรัฐเคดาห์ จำนวน 1 ราย เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทยในพื้นที่ว่าแรงงานไทยในพื้นที่ส่วนใหญ่เดินทางมาทำงานในตำแหน่งลูกเรือประมง และเป็นคนงานเดิมที่เคยทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลานานจึงไม่มีปัญหาติดต่อขอความช่วยเหลือมากนัก แต่มีแรงงานไทยบางส่วนนิยมใช้ยาเสพติด เช่น กระท่อม ยาบ้า ยาไอซ์ ฯลฯ และเฝ้าระวังหากมีการแจ้งเหตุ
1.3 สำนักงานฯ ได้หารือกับนายจ้างบริษัท Hai Tat Fishery และเยี่ยมเยียนแรงงานไทยที่ทำงานกับบริษัทดังกล่าว จำนวน 15 ราย นายจ้างแจ้งว่า นายจ้างมาเลเซียส่วนใหญ่ชื่นชอบแรงงานไทยเนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการจับปลามากกว่าแรงงานสัญชาติอื่น และแรงงานไทยที่ทำงานกับบริษัทได้ทำงานร่วมกันกว่า 10 ปี และจากการสัมภาษณ์แรงงานไทยทราบว่า นายจ้างดูแลความเป็นอยู่เป็นอย่างดี แรงงานไทยทุกคนเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
1.4 สำนักงานฯ ได้หารือกับนายกสมาคมประมงรัฐเคดาห์ และนายจ้างมาเลเซีย จำนวน 7 บริษัท ณ เมือง Alor Setar ทราบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ชื่นชอบแรงงานไทยเนื่องจากมีประสบการณ์การทำงานด้านการประมง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่นายจ้างประสบ คือ แรงงานไทยเมื่อเดินทางเข้ามาทำงาน ในประเทศมาเลเซียจะหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างรายอื่น และนายกสมาคมฯ แจ้งความประสงค์ของ นายจ้างมาเลเซียที่ต้องการแรงงานไทยจำนวนมากเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซียอย่างถูกกฎหมายในตำแหน่งลูกเรือประมง สำนักงานฯ ชี้แจงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ประเทศมาเลเซียอนุญาตให้ คนไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศด้วยวีซ่าท่องเที่ยว อาจมีแรงงานไทยลักลอบเข้ามาทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยว โดยมีสถานะการทำงานที่ผิดกฎหมายและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานฯ มีความห่วงใยแรงงานกลุ่มนี้ หากมีแรงงานในลักษณะดังกล่าวขอให้นายจ้างดำเนินการจ้างงานตามขั้นตอนของกฎหมายการจ้างงานของประเทศมาเลเซีย และสำนักงานฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับการคุ้มครองอีกทางหนึ่งด้วย
2) เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2565 สำนักงานฯ ดำเนินภารกิจ ณ รัฐเปรัก ดังนี้
2.1 สำนักงานฯ พร้อมด้วยอาสาสมัครแรงงานไทยประจำรัฐเปรัก จำนวน 1 ราย ได้พบหารือกับนายจ้างบริษัท Kah Fishery ณ เมือง Pantai Remis รัฐเปรัก ซึ่งบริษัทฯ ดังกล่าวจ้างงานแรงงานไทยในตำแหน่งไต่ก๋ง และลูกเรือประมง จำนวนทั้งสิ้น 82 คน แรงงานที่ทำงานบนเรือเป็นแรงงานไทยเท่านั้น ส่วนแรงงานทั่วไปบริเวณแพปลาเป็นแรงงานเมียนมาร์ และกัมพูชา และแรงงานไทยดังกล่าวเป็นคนงานเก่าที่ทำงานกับบริษัทมานานกว่า 20 ปี และแรงงานไทยกลุ่มนี้เป็นเครือญาติที่แนะนำกันมาทำงานกับบริษัท จากการสัมภาษณ์แรงงานไทยทราบว่า เดินทางมาทำงานจากอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด สำหรับรายได้ที่ได้รับเป็นการแบ่งผลประโยชน์จากการจับปลา โดยลูกเรือมีรายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาท/เดือน นายจ้างจัดหาอาหารและที่พัก ตลอดจนดูแลรักษายามเจ็บป่วย
2.2 สำนักงานฯ ได้พบหารือกับนายจ้างบริษัท Mathurai Fishery Sdn Bhd ซึ่งจ้างงานแรงงานไทย จำนวน 25 คน และบริษัท Kong Beng Fishery ซึ่งจ้างงานแรงงานไทย จำนวน 50 คน ณ เกาะ Pankor รัฐเปรัก สำนักงานฯ สัมภาษณ์แรงงานไทยในตำแหน่งไต่ก๋งทราบว่า แรงงานกลุ่มนี้เดินทาง เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดสตูล ปัตตานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และนครปฐม
ทั้งนี้ สภาพการทำงานมีการออกเรือจับปลาทุกวัน หยุดพักเดือนละ 4 วัน รายได้ที่ได้รับเป็นการแบ่งผลประโยชน์จากการจับปลา โดยเฉลี่ยลูกเรือมีรายได้ประมาณ 30,000 บาท/เดือน และไต่ก๋ง มีรายได้ประมาณ 100,000 บาท/เดือน นายจ้างดูแลความเป็นอยู่เป็นอย่างดี จัดหาอาหารและที่พัก รวมถึงจัดหาวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครบจำนวน 3 เข็ม สำนักงานฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนฯ เพื่อประโยชน์สำหรับแรงงานไทยในมาเลเซียต่อไป
เดินทางไปราชการ ณ รัฐเคดาห์ รัฐปีนัง และรัฐเปรัก
ระหว่างวันที่ 19-22 มิถุนายน 2565
สำนักงานแรงงานในมาเลเซีย
สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เลขที่ 206 ถนนอัมปัง 50450 กรุงกัวลาลัมเปอร์
ประเทศมาเลเซีย
Office of Labour Affairs, Royal Thai Embassy, 206 Jalan Ampang 50450 Kuala Lumpur, Malaysia