เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 สุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ (Sultan Ibrahim Sultan Iskandar) แห่งรัฐยะโฮร์ ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีหรือยังดีเปอร์ตวนอากงที่ 17 (Yang di-Pertuan Agong) ณ พระราชวังแห่งชาติในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีวาระการครองราชย์เป็นเวลา 5 ปื โดยทรงสืบทอดตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ ซึ่งทรงครองราชย์ครบ 5 ปี เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 67 และเสด็จกลับไปเป็นประมุขของรัฐปาหังแล้ว
สมเด็จพระราชาธิบดีอิบราฮิมฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 65 พรรษา ทรงสนพระทัยในเรื่องธุรกิจหลายด้าน เช่น อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม โรงไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทรงถือหุ้นในโครงการ Forest City โครงการพัฒนาที่ดินมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรัฐยะโฮร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน
สมเด็จพระราชาธิบดีอิบราฮิมฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม จึงคาดการณ์ว่าภายใต้การปกครองของพระองค์ฯ จะสามารถสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพ (Unity Government) ของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ฯ ได้
อนึ่ง ระบบครองราชย์ของกษัตริย์มาเลเซียจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะจะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ผ่านการคัดเลือกของคณะสุลต่านผู้ปกครองทั้ง 9 รัฐในประเทศ (ตรังกานู สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน เปรัก เคดาห์ ยะโฮร์ ปาหัง เปอร์ลิส และกลันตัน)
พระราชประวัติสุลต่านรัฐยะโฮร์
- สุลต่าน อิบราฮิม อิสกันดาร์ ประสูติเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 1958 ที่รัฐยะโฮร์
- เป็นพระราชโอรสองค์โตของสุลต่านอิสกันดาร์ อิบนิ อัลมัรฮูม สุลต่านอิสมาอีล กับ กัลซม อับดุลเลาะห์ (ชื่อเดิม โจเซฟีน รูบี้ เทรเวอโรว์ สัญชาติอังกฤษ)
- ทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ Trinity Grammar School เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อระหว่างปี ๑๙๖๘ – ๑๙๗๐ จากนั้นเข้ารับการฝึกทหารที่ศูนย์ฝึกทหารบก (Pusat Latihan Tentera Darat) ที่เมืองโกตาติงฆี รัฐยะโฮร์ รวมทั้งเข้ารับการฝึกทหารที่ ฟอร์ต เบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย และที่ ฟอร์ต แบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา
- ทรงดำรงตำแหน่งมกุฏราชกุมาร เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 1981 อภิเษกสมรสกับ รายา ซาริท โซฟียะห์ อัลมัรฮูม
- สุลต่านอิดริส ชาห์ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 1982 โดยมีพระโอรส 5 องค์ และพระธิดา 1 องค์
- ทรงดำรงตำแหน่งสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์เมื่อ 23 ม.ค. 2010
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.bharian.com.my/berita/nasional/2024/02/1207644/yang-di-pertuan-agong-satu-tanggungjawab-besar-sultan-ibrahim