เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 67 ค่าเงินริงกิตมาเลเซียดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียหรือต้มยำกุ้ง โดยริงกิตทรุดตัวลงราว 0.3 % เกือบแตะระดับ 4.8 ริงกิตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 4.8850 ริงกิตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในเดือน ม.ค. 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชีย
นาย ฟาห์มี ฟัดซิล (Fahmi Fadzil) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร และโฆษกรัฐบาลมาเลเซีย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (Overnight Policy Rate: OPR) เพื่อพยุงค่าเงินริงกิตไม่ใช่การดำเนินการที่เหมาะสมในขณะนี้ เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อประชาชน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียเองมีความกังวลในเรื่องนี้ และโดยส่วนตัวเขาไม่คิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำในช่วงเวลานี้ แต่สิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารกลางมาเลเซีย
ด้าน ดาโต๊ะ อับดุลราชีด อับดุล ฆอฟฟูร์ (Datuk Addul Rasheed Abdul Ghaffour) ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ให้ความเห็นว่า การอ่อนค่าของริงกิตแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปีในช่วงเวลานี้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน มาเลเซียยังไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ เพราะจะส่งผลกระทบค่าครองชีพประชาชน ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย คาดการณ์ว่า การส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของการลงทุน รวมทั้งการที่รัฐบาลทำการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจะช่วยให้ค่าเงินริงกิตแข็งค่าขึ้นในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดาโต๊ะ เซอรี อามีร์ ฮัมซาห์ อาซีซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่สองของมาเลเซีย ที่มองว่าค่าเงินริงกิตจะแข็งค่าขึ้นในปี 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากสัญญาณบ่งชี้ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
อนึ่ง ปัญหาค่าเงินริงกิตที่ยังคงต่ำ ไม่จูงใจให้แรงงานไทยเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซีย และยังเป็นสาเหตุให้แรงงานไทยบางส่วนไม่ต่อสัญญาจ้างกับนายจ้าง รวมถึงการขอยกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนด