Skip to main content

หน้าหลัก

สรุปรายละเอียด *แผนผ่อนคลายการจ้างงานแรงงานต่างชาติตามที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมาเลเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566

แผนผ่อนคลายการจ้างงานแรงงานต่างชาติตามที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมาเลเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 สรุปได้ดังนี้
1.1 แผนผ่อนคลายการจ้างงานแรงงานต่างชาติ เป็นแผนที่เน้นความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมาเลเซียภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 (เดือนมกราคม – 31 มีนาคม 2566) โดยเปิดให้กับภาคการจ้างงานที่มีความสำคัญและมีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
(1) ภาคการผลิต
(2) ภาคก่อสร้าง
(3) ภาคเพาะปลูก
(4) ภาคการเกษตร
(5) ภาคบริการ (เฉพาะร้านอาหาร)
1.2 ภายใต้แผนฯ นายจ้างได้รับอนุญาตให้จ้างงานแรงงานต่างชาติจาก 15 ประเทศต้นทาง (ได้แก่ อินเดีย ลาว ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา เนปาล เมียนมาร์ เวียดนาม เติร์กเมนีสถาน ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ อุซเบกีสถาน และ คาซัคสถาน) ตามกำลังความสามารถและความต้องการ ที่แท้จริงของนายจ้าง โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเบื้องต้นในการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ได้แก่ การประกาศตำแหน่งงานว่าง 30 วัน การจัดเตรียมที่พักให้แรงงานตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด และการทำประกันกับองค์การประกันสังคม (SOCSO)
1.3 ขั้นตอนการจ้างงานแรงงานต่างชาติภายใต้แผนผ่อนคลายการจ้างงานแรงงานต่างชาติ มีดังนี้
(1) นายจ้างยื่นคำร้องขอจ้างงานแรงงานต่างชาติต่อกรมแรงงานคาบสมุทรมาเลเซีย กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งนายจ้างจะได้รับการอนุมัติภายในเวลา 3 วันทำการ นับจากวันที่ยื่นขอ ทั้งนี้ นายจ้างต้องดำเนินการผ่านระบบ FWCMS ภายใต้โมดูล FWe Approval
(2) เมื่อได้รับเอกสารอนุมัติการจ้างงานแล้ว นายจ้างต้องชำระค่าธรรมเนียมการจ้างงานแรงงานต่างชาติ (Levy) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย
(3) หลังจากได้รับการยืนยันการจ้างงานจากแรงงานต่างชาติจากประเทศต้นทางแล้ว ให้แรงงานเข้ารับการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลที่กำหนด (สำหรับประเทศไทยมี 2 ที่ ได้แก่ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล โชคชัย 4 กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลนอร์ทอีสเทอร์นวัฒนา จ. อุดรธานี)
(4) หลังจากแรงงานต่างชาติได้รับผลการตรวจสุขภาพ ให้นายจ้างดำเนินการขอเอกสาร Calling Visa ให้แรงงาน
(5) แรงงานต่างชาติดำเนินการขอวีซ่า Single Entry ณ สถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย
(6) ผ่านการตรวจลงตรา ณ จุดตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าประเทศมาเลเซีย
(7) นายจ้างขอเอกสาร Special Pass ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย
(8 ) แรงงานต่างชาติเข้ารับการตรวจสุขภาพกับคลีนิคในสังกัดของ FOMEMA
(9) หากผลการตรวจสุขภาพระบุว่าเหมาะสมต่อการจ้างงาน (FIT) แรงงานจะได้รับการอนุมัติสติกเกอร์ใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass (Temporary Employment)
(10) หลังจากได้รับอนุมัติสติกเกอร์ใบอนุญาตทำงาน ภายในระยะเวลา 6 เดือน นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเบื้องต้นในการจ้างงานแรงงานต่างชาติ (ตามข้อ 1.2) ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียจะทำงานร่วมกันในการดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบการบริหารจัดการแรงงานต่างชาติของนายจ้าง หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับและกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน นายจ้างอาจถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง


5244
TOP